หนึ่งวันของพนักงานออฟฟิศพูดคุยอะไรกันเหรอ?
“พี่คนนั้นเขาดูแปลก ๆ นะ เวลาถามอะไรก็ไม่ตอบ ชวนคุยอะไรก็ไม่ค่อยคุย”
“เมื่อวานได้ดูซีรีส์ที่ออนใหม่ในเน็ตฟลิกซ์แล้วหรือยัง ซีซันใหม่เพิ่งมาเมื่อวานเลย ดูจนเกือบเช้า นี่ถ้าไม่ติดว่ามีประชุมเช้าคงจบซีซันไปแล้ว”
นี่อาจเป็นเพียงตัวอย่างจากหลากหลายรูปแบบบทสนทนาที่อาจเกิดขึ้นในองค์กรของคุณ ในชีวิตของมนุษย์ทำงาน เรามีเรื่องราวมากมายสำหรับเลือกหยิบมาพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน และใช่ว่าเราจะคุยเรื่องนี้กับทุกคน นั่นผ่านการเลือกภายในหัวของเรามาแล้วว่า ใครคือเพื่อนร่วมงานที่เราสบายใจและพร้อมจะแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ที่ตื้นลึกแตกต่างกันออกไป

จากการสำรวจพบว่าเพียง 8.8% เท่านั้นที่มีเพื่อนร่วมงานที่เป็นเพื่อนในชีวิตจริง ๆ โดยมีความเข้ากันได้จากทัศนคติการทำงานและการใช้ชีวิตที่ตรงกัน นอกจากนี้ ความช่วยเหลือที่ได้รับจากการทำงานอาจจะเป็นตัวกำหนดสถานการณ์ที่สามารถแลกเปลี่ยนความรู้สึกทางอารมณ์และความคิด หากการสนทนาเกี่ยวข้องกับงานภาพรวมของการสำรวจแสดงว่า 89.6% สามารถพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานได้ปกติ แชร์ทั้งเรื่องส่วนตัวและทั่วไป และชอบอัปเดตเทรนด์ที่เกิดขึ้นในสังคมเพื่อนร่วมงาน
หัวข้อ (เกือบจะ) ห้ามพูดในที่ทำงาน
ต่อให้มนุษย์จะเป็นสัตว์สังคมที่ชอบพูดคุย หยิบหัวข้อเรื่องราวต่าง ๆ มาให้บทสนทนาลื่นไหลและเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องราวของกันและกันมากแค่ไหนก็ตาม ในสังคมการทำงานเองมีหัวข้อที่ไม่ควรนำมาพูดหรือถามกันกับเพื่อนร่วมงานเช่นกัน จากผลสำรวจได้ถามความเห็นของคนทำงานว่า เรื่องราวหัวข้อไหนบ้างที่จะไม่ถามหรือพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน
ประเด็นที่นำมาเป็นอันดับ 1 นั่นคือ เรื่องเงินเดือน เพราะเงินเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนระหว่างบุคคล แม้ว่าเราจะยินดีกับเพื่อนร่วมงานคนเก่งของเราแค่ไหนก็ตาม แต่ ณ วันที่ความรู้สึกในการทำงานมีความตึงเครียดเข้ามาเกี่ยวข้อง หัวข้อเรื่องเงินเดือนอาจกลายเป็นเชื้อไฟชั้นดีในความขัดแย้งระหว่างคุณและเพื่อนร่วมงานได้ เรื่องเงินเดือนจึงเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวมาก ๆ และควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันหรือถามคนอื่น
ประเด็นอันดับ 2 คือเรื่องประวัติความเจ็บป่วย จริงอยู่ที่เราอาจจะอยากแชร์ประสบการณ์เฉียดตายจากการเจ็บป่วยของเรา หรือเล่าให้เป็นอุทาหรณ์กับคนอื่น แต่เชื่อเถอะว่า ในเรื่องราวความเจ็บป่วย มีคนอีกมากมายที่จะตั้งคำถามถึงสาเหตุหรือเข้าใจผิดของอาการต่าง ๆ รวมทั้งการเจ็บป่วยไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะอยากรู้ การพูดคุยเรื่องอาการเจ็บป่วยอาจทำให้บทสนทนาพลิกสถานการณ์ไปเลยก็ได้
ประเด็นอันดับ 3 คือเรื่องการนินทาว่าร้ายผู้อื่น เราอาจจะเห็นคอนเทนต์ของการนินทาเพื่อนร่วมงานในเชิงตลกขบขันมากมายในโลกโซเชียล แต่ในชีวิตจริง การเป็นตัวต้นเรื่องของการนินทาผู้อื่น อาจจะสนุกปากหรือได้รับความสนใจในช่วงแรกเท่านั้น แต่ในระยะยาว ภาพลักษณ์ของคุณย่อมไม่ดีแน่
นอกจากนี้ยังมีหัวข้ออื่นอีกที่ได้รับการนำเสนอมาในหมวดหัวข้อที่ไม่ควรพูด เช่น ความเห็นด้านศาสนาและการเมือง ที่เป็นความเชื่อส่วนบุคคลและมีความหลากหลายที่ซับซ้อน การเห็นต่างในเรื่องนี้อาจนำไปสู่อคติในการทำงานและพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพนักงานในองค์กรได้ หรือแม้แต่ข้อมูลส่วนตัวที่เรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เช่น เรื่องคนรัก เพื่อนสนิท ข้อมูลเหล่านี้อาจจะเป็นข้อมูลที่เราไม่ได้คิดอะไร แต่เพื่อนร่วมงานสามารถนำข้อมูลของเราไปเล่าต่อได้ และอาจเลยเถิดจนกลายเป็นเรื่องที่เราไม่อาจจะคาดคิดได้
INSIDE SC
ในมุมมองของ SC Asset การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี จะเปิดโอกาสให้พนักงานสร้างบทสนทนาระหว่างกันและกันได้อย่างราบรื่น ทาง SC Asset เองจึงได้สร้างโอกาสให้คนต่างทีมได้เกิดบทสนทนากันผ่านพื้นที่ในออฟฟิศที่เรียกว่า CO.Lab ซึ่งมีโซนนิ่งต่างๆ ที่เหมาะให้พนักงานได้มาใช้เวลา นอกเหนือจากการทำงาน เช่น มุมกาแฟ CO.Coffee ที่ให้คน ได้มาจิบกาแฟ พูดคุยเรื่องราวเบาๆ แลกเปลี่ยนความคิด หรือมุม Canteen ที่สามารถมานั่งรับประทานอาหารและพบปะกับเพื่อนต่างแผนกกันได้

จะเห็นได้ว่าการพูดคุยในที่ทำงานจะสะท้อนเรื่องบรรยากาศของเพื่อนร่วมงานที่คุณต้องเจอในแต่ละวัน เราเชื่อความสนิทใจระหว่างเพื่อนร่วมงานและตัวคุณเองถูกผูกโยงกับระดับความตื้นลึกของหัวข้อบทสนทนาที่เกิดขึ้น และนั่นเกี่ยวเนื่องกับบรรยากาศการทำงานด้วยเช่นกัน บทความจาก REERACOEN กล่าวว่า “ความสุขในการทำงาน นอกจากจะเป็นเรื่องของเงินแล้ว ยังเป็นเรื่องของเพื่อนร่วมงานที่ดีอีกด้วย” เพราะการมีเพื่อนร่วมงานที่ดีเท่ากับการมีหนึ่งในแวดล้อมในการทำงานที่ดี เมื่อเราได้อยู่ในสังคมที่เป็นมิตร โอกาสในการเติบโต เรียนรู้ย่อมได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ส่งผลต่อความสุขในการทำงานของตัวเราเอง ทั้งยังสร้างแรงใจในการพัฒนาตัวเองได้ในทางอ้อมอีกเช่นกัน นี่อาจจะเป็นปัจจัยต้น ๆ ที่ถูกใช้พิจารณาว่าที่ทำงานแห่งนี้คือสถานที่ทำงานในฝันของคุณหรือไม่
INSIDE SC
จริงอยู่ที่ภายในองค์กรมีเรื่องมากมายที่ (เกือบจะ) ห้ามพูด นอกเหนือจะหัวข้อที่ยกไปแต่นโยบายของ SC Asset ที่สนับสนุนให้คนทุกระดับ กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ใน Session ของ Town Hall จะเปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับ มีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะพูดคุย สอบถามกับ CEO โดยตรง
‘วัฒนธรรมองค์กร’ ก็เขาทำกันมาแต่ก็ดราม่าได้ง่ายๆ
ปัจจัยสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับผู้คนและเป็นอุปสรรคหลักที่หลายองค์กรไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ นั่นคือ วัฒนธรรมองค์กร จากการตั้งคำถามว่า การใช้ความนอบน้อม ให้เกียรติผู้สูงอายุในที่ทำงาน ทำให้การทำงานง่ายขึ้นจริงหรือไม่? 91.9 % เห็นตรงกันว่า การใช้วัฒนธรรมแบบไทย ๆ ยังคงทำให้การทำงานในปัจจุบันง่ายขึ้นจริง ทั้งทำให้หัวหน้ารักและเอ็นดูมากขึ้น คอยให้ความช่วยเหลือและทำงานได้ง่ายขึ้น แต่เสียงครึ่งหนึ่งก็กล่าวเช่นกันว่า ในยุคการทำงานปัจจุบันก็ไม่ควรต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่พึ่งพาความเอ็นดูจากหัวหน้าอีกแล้ว ควรโฟกัสเฉพาะความถูกต้องและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเป็นหลัก ซึ่งคนทำงาน Gen Y และ Gen Z ต่างเห็นตรงกันในเรื่องนี้
สรุปใจความได้ว่า วัฒนธรรมองค์กรที่คนรุ่นใหม่มองหาในอันดับต้น ๆ คือเรื่องของการไม่จำกัดเพศและอายุ ซึ่งถูกผูกโยงกับเรื่องอิสระทางความคิด คนรุ่นใหม่คาดหวังให้องค์กรได้มีพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ใหญ่ได้โดยไม่ถูกนำคำว่า ‘เป็นเด็ก’ มากดทับในเชิงอำนาจ เพียงแค่การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งต่อมนุษย์อีกคนหนึ่งเท่านั้น และให้ทุกความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องน่าอับอาย แต่เป็นโอกาสในการเรียนรู้เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ จากข้อผิดพลาดนั้น ๆ เมื่อพวกเขาให้ความเคารพผู้อื่น สิ่งตอบแทนที่คาดหวังไม่ได้มากมากนัก แต่เป็นเพียงแค่การให้เกียรติที่เท่าเทียมกันกลับมาเท่านั้นเอง